โรคไข้นกแก้ว (Psittacosis) กำลังระบาดในหลายประเทศในยุโรป และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้อย่างต่อเนื่อง โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อใหม่แต่เป็นโรคที่มีการตรวจพบในสัตว์และมนุษย์มาก่อนหน้านี้ ไข้นกแก้วเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Chlamydia Psittaci ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคในนก และสามารถแพร่กระจายผ่านนกเลี้ยง เช่น นกแก้ว นกพิราบ และนกคีรีบูน โดยนอกจากนี้ยังพบเชื้อในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับนกดังกล่าว เช่น สุนัข และแมว ในอดีตเคยมีการระบาดในนกแก้วแล้วหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ คอสตาริกา ออสเตรเลีย
ในประเทศไทย เคยมีการรายงาน ผู้ป่วยโรคไข้นกแก้ว ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 และยังไม่พบผู้ป่วยล่าสุดในประเทศไทย
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดต่อโรคไข้นกแก้ว เกิดจากการหายใจรับละอองเชื้อเข้าไป จากสารคัดหลั่ง ฝุ่นที่ติดอยู่บนขน และมูลแห้งของนก กลุ่มเสี่ยงสูงสุดคือผู้ที่มีความใกล้ชิดกับนก เช่น สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ ผู้เลี้ยงนก และผู้ให้อาหารนก ผู้ติดเชื้อมักมีอาการเล็กน้อยเช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และไอแห้ง และมักเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไป 5-14 วัน โดยสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือผู้เสียชีวิต มักเป็นกลุ่มคนสูงวัยหรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และพบจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยมาก การป้องกันโรคไข้นกแก้วสามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย และในกรณีที่จำเป็นต้องสัมผัสควรใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ นอกจากนี้ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่หลังจากการสัมผัสสัตว์ และควรเฝ้าระวังอาการของตนเองและสัตว์อยู่เสมอ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสายด่วนกรมควบคุมโรคได้ที่ โทร.1422